- รายละเอียด
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 11103
1. เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตร โดยการป้องกันการกำจัดแมลงศัตรูพืช ทำลายวัชพืชที่แย่งอาหารพืชหลัก ทำลายเชื้อราและไวรัสซึ่งเป็นเชื้อโรคระบาดทำลายพืช ทำให้พืชแข็งแรงเจริญเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตสูงขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การเกษตร สาเหตุสำคัญที่มีการนำเอาสารเคมีดังกล่าวมาใช้เนื่องจากพบว่า ผลผลิตการเกษตรทั่วโลกไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ลดลงเพราะศัตรูพืชแพร่ระบาดและทำลาย ในบางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ผลิตผลการเกษตรบางประเภทได้ถูกทำลายโดยแมลงศัตรูพืชถึงร้อยละ 60 นอกจากนี้ผลิตผลที่รอดจากการทำลายก็มีมาตรฐานต่ำ ทำให้มีความจำเป็นต้องนำเอาสารเคมีดังกล่าวมาช่วยในการผลิต
2. เพื่อควบคุมเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ เช่น เชื้อโรคมาลาเรีย ไข้เหลือง โรคเท้าช้าง ไทฟัส เป็นต้น โดยการทำลายพาหะนำโรคต่างๆ เช่น การใช้สารดีดีทีฉีดพ่นทำลายยุงตามแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะประเทศแถบร้อนชื้นแทบทุกประเทศ
3. เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชและศัตรูสัตว์ในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการควบคุมกำจัดยุงของรัฐบาล โครงการป้องกันกำจัดหนู โครงการควบคุมและกำจัดวัชพืชบนทางหลวง เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้สารเคมีในเนื้อที่ขนาดใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและส่วนรวม
สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ในปัจจุบันมีมากมายหลายชนิด สามารถจำแนกหรือแบ่งแยกออกเป็นชนิดหรือกลุ่มได้ต่างๆกัน เช่น จำแนกตามสมบัติในด้านการป้องกันจำกัด จำแนกตามสมบัติทางเคมี นอกจากนี้สารเคมีเกษตรยังสามารถแบ่งแยกได้ตามลักษณะของผลที่เกิดแก่ศัตรูพืช (effect on pests) เช่น การทำให้แมลงศัตรูพืชไม่กินอาหารและอดตายในที่สุด (anti-feedant) การเป็นกับดักล่อให้แมลงศัตรูพืชเข้ามาหาเพื่อจะถูกทำลาย (attractant) การทำให้แมลงศัตรูพืชเป็นหมันสืบพันธุ์ต่อไปไม่ได้ (chemosterilant) การทำให้วัชพืชเกิดใบร่วงและค่อยๆตายไป (defoliant) การทำให้พืชแห้งตาย (desiccant) และการควบคุมการเจริญเติบโตของพืชหรือสัตว์ (growth regulator) เป็นต้น